วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553
อีโคคาร์
พลันน้องๆหนุ่มล่ำ ลั่นกลองสะบัดชัย พร้อมซุ่มเสียงหนักแน่น ดึงดูดความสนใจ จากนั้นกระทาชาย 3 นายก็ออกมาขยับท่วงท่าลีลาเท้า แบบที่สากลเรียกว่า“เต้นแท็ป” ...และเมื่อการกระโดดโลดรำทั้งหลายจบสิ้น เก๋งเล็กสีส้มคันแรกในตระกูล “อีโคคาร์” ก็ค่อยๆเผยโฉมออกมาจากสายการผลิต
หลังสิ้นพิธีคลอดออกมาจากสายการผลิตของ “มาร์ช” ที่โรงงานนิสสัน มอเตอร์ ย่านถนนบางนา กม.21 ทางทีมงานนิสสัน ได้ตระเตรียมพื้นที่ให้สื่อมวลชนได้ลองขับสั้นๆ บริเวณไม่ไกลจากโรงงานผลิตนัก ซึ่ง “ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง”ไม่พลาดนำประสบการณ์อันผิวเผิน มาเล่าสู่กันฟัง
ไล่สเปกของนิสสัน มาร์ช เจเนอเรชันที่ 4ให้ดูกันก่อน กับตัวถังแฮทซ์แบ็ก 5 ประตูขนาดกะทัดรัด มิติกว้าง ยาว สูง 1,665 x 3,780 x 1,515 มิลลิเมตรตามลำดับ ขณะที่ระยะฐานล้อยาว 2,450 มิลลิเมตร น้ำหนักรถโดยประมาณ 900 กิโลกรัม(รุ่น s เกียร์ธรรมดา) ไปจนถึง 965 กิโลกรัม(รุ่นท็อป VL เกียร์CVT)
ภายในรุ่นเกียร์ธรรมดา ที่มีรถพร้อมส่งมอบทันที ส่วนเกียร์อัตโนมัติ CVT เจอกันเดือนมิถุนายน
ปุ่มเลือกระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งเป็นรุ่นส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้นิสสันแบ่ง “มาร์ช” เป็น 6 รุ่นย่อย ตั้งแต่เกียร์ธรรมดาเกรด S,E และเกียร์ CVT เกรด E,EL,V,VL ซึ่งออปชันความปลอดภัย-สิ่งอำนวยความสะดวกก็ต่างกันออกไป สนนราคา 3.75 – 5.37 แสนบาท(ดูตารางราคาประกอบ)
เครื่องยนต์เบนซินรหัส HR12DE ขนาด1.2 ลิตร 3 สูบ พร้อมระบบควบคุมการเปิด-ปิดของวาล์ว ( continuously valve-timing control -CVTC) ให้กำลังสูงสุด 79 แรงม้า(ps)ที่ 6000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 108 นิวตัน-เมตรที่ 4400 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และอัตโนมัติแบบอัตราทดแปรผันต่อเนื่องหรือ CVT
ช่วงล่างหน้าเป็นอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท หลังเป็นคานแข็งหรือทอร์ชันบีม ส่วนล้อขอบ 14 นิ้ว จะเป็นล้อเหล็กแต่มีฝาครอบล้อ ประกบยาง 165/70 R14 ซึ่งเท่าที่เห็นใช้ของ “แมกซิส” ขณะที่ล้อขอบ 15 จะมาในรุ่นท็อป VL ประกบยาง 175/60 R15 ของ“ดันลอป”
ส่วนออปชันอำนวยความสะดวก ที่เป็นจุดเด่นอย่าง กุญแจอัจฉริยะ(Keyless) ,ระบบป้องการโจรกรรม, กระจกมองข้างพับไฟฟ้าอัตโนมัติ, เซ็นเซอร์ถอยหลัง 4 จุด (Reverse Sensor) แผงหน้าปัดแสดงค่าเฉลี่ยน้ำมันที่ใช้จริง แสดงค่าระยะทางการใช้งาน (cruising range) และอุณหภูมิภายนอก และระบบ Idling Stop ที่จะสั่งให้เครื่องยนต์หยุดทำงานเมื่อมีการจอดรถสนิท ซึ่งทั้งหมดจะมีเฉพาะรุ่นเกียร์ CVT EL และVL เท่านั้น
ด้านความปลอดภัยติดตั้ง ถุงลม SRS เป็นมาตรฐานทุกรุ่น ขณะที่รุ่นย่อย V และ VL จะให้ถุงลมคู่หน้า พร้อมเบรก ABS ระบบควบคุมและกระจายแรงเบรก EBD และระบบเสริมแรงเบรก BA
การทดสอบ “มาร์ช” ทีมงานนิสสัน จัดรุ่นท็อปเกียร์ CVT มาให้ แต่กระนั้นตัวที่เราได้ลองขับยังเป็นรถทดลองประกอบหรือ Pre Production อยู่ เพราะจริงๆแล้วรุ่นเกียร์CVT จะพร้อมส่งมอบจริงๆก็เดือนมิถุนายนโน้นครับ
เรื่องหน้าตาไม่ขอพูดถึงแล้วกัน เพราะแล้วแต่ความชอบของท่านเลย ส่วนภายในนั้นจะย้ำนิดเดียวว่า “คุณภาพเป็นไปตามราคา” วัสดุที่นำมาใช้กับพวงมาลัย แผงแดชบอร์ดหน้า แผงประตูด้านข้าง รวมถึงเบาะนั่งแบบผ้า ซีลยางตามขอบประตู ดูไม่เนียนเท่าพวกรถซับคอมแพกต์ญี่ปุ่นที่ขายอยู่ในท้องตลาด แต่กระนั้นก็ดีกว่าพวกรถจีนหรือมาเลเซียแน่นอน
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าภายในกว้างกว่าที่คิด แม้ตำแหน่งคนขับแข้งขาติดเล็กน้อยสำหรับคนสูงเกือบ 180 เซนติเมตร แต่เฮดรูมนี่เหลือเฟือครับ ยิ่งที่นั่งด้านหลังถือว่าสอบผ่าน นั่งสามคนได้สบายๆ
สำหรับสนามที่เราใช้ทดสอบอยู่ในพื้นที่โรงงาน (จริงๆนิสสันเตรียมสนามทดสอบเอาไว้เพิ่มอีกหนึ่งจุดซึ่งความยาวสั้นกว่า) ซึ่งเป็นบริเวณที่นิสสันจะนำเอารถหลังการประกอบเสร็จมาลองวิ่งตรวจสอบคุณภาพอยู่แล้ว(ใช้วิธีสุ่ม) แต่งานนี้วางกรวยให้คดเคี้ยวจนได้ระยะทางต่อรอบประมาณ 700-800 เมตร
จากพื้นที่จำกัด ดังนั้นเทรกจึงค่อนข้างแคบ เราใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่พอรับรู้ถึงกำลังเครื่องยนต์ที่ผสานการส่งกำลังแบบCVT ทำได้ไหลลื่นต่อเนื่อง การตอบสนองสมเนื้อสมตัว ขับในเมืองสบายๆ ด้านช่วงล่างเซ็ทมาค่อนข้างนุ่ม ขณะเดียวกันเราหันไปถามผู้โดยสารตอนหลังว่าเป็นอย่างไร ก็ได้คำตอบพร้อมรอยยิ้มว่า “สบายดี”
เมื่อผ่านด่านสลามลอม และการเปลี่ยนเลน ใช้ความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้ช่วงล่างจะเอาอยู่ แต่พอรู้สึกว่าตัวรถมีการโยกคลอนเล็กน้อยเช่นกัน ที่สำคัญพวงมาลัยไฟฟ้าให้น้ำหนักเบาไปนิด การควบคุมยังไม่คมเท่าไหร่ สวนทางกับความรู้สึกในการกดแป้นเบรกที่ทำได้ยอดเยี่ยม
เราขับวนอยู่ 3-4 รอบ ตามสถานการณ์จะอำนวย และมีโอกาสได้ลองระบบ Idling Stop ที่จะสั่งให้เครื่องยนต์จะหยุดทำงานเมื่อรถจอดสนิท ช่วยเรื่องการประหยัดน้ำมัน
แต่กระนั้น Idling Stop ที่ใส่เป็นออปชันในมาร์ชบ้านเรา ก็ไม่ได้เทพอย่างที่หลายๆคนหวัง หรือเคยฟังมาว่าระบบมันเหมือนพวกไฮบริด เพราะแท้จริงแล้ว การใช้งานระบบนี้มีหลายเงื่อนไข และปัจจัยตัวแปรพอสมควร
อย่างแรกถ้าจะใช้ Idling Stop คุณจำเป็นต้องปิด A/C หรือการทำงานของคอมเพรสเซอร์แอร์เสียก่อน (แต่พัดลมทำงานอยู่) นั้นหมายถึงคุณจะต้องทนร้อน หรือไม่ก็เปิดหน้าต่างขับ (อากาศดีก็ไม่ว่ากัน)
แต่ถ้าคุณคิดว่าขับไปเรื่อยๆเปิด A/C ให้เย็นช่ำไว้ก่อน จากนั้นพอใกล้ๆจะติดไฟแดงหรือคาดว่ารถจะหยุดแน่ๆค่อยปิดมัน โดยหวังว่า Idling Stop จะมาช่วยคุณ…ได้ครับ แต่มันจะทำงานหลังจากคุณเหยียบเบรก เข้าเกียร์ไปที่ตำแหน่ง P แล้วรอประมาณ 1 นาที เครื่องยนต์ถึงจะดับ
อีกกรณีถ้าคุณคิดว่า 1 นาทีมันช้าไป และอยากให้เครื่องยนต์มันดับทันที ตรงนี้ก็มีวิธีเช่นกัน… แต่คุณต้องปิด A/C ตั้งแต่รถจอดอยู่นิ่งสนิท จากนั้นถ้าเริ่มเคลื่อนตัวออกโดยใช้ความเร็วเกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ระบบ Idling Stop จะรู้แล้วว่าคุณต้องการมัน
ดังนั้นถ้ามีเหตุให้หยุดรถอีก แล้วทำเงื่อนไขเดิมคือ เหยียบเบรก เข้าเกียร์ P และเท้ายังเหยียบเบรกค้างไว ทีนี้เครื่องยนต์จะดับให้ทันที พร้อมมีไฟสัญลักษณ์สีเขียวติดขึ้นบนแผงหน้าปัดแสดงผลการทำงาน
…ต้องเลือกครับ ว่าคุณจะอยากร้อน หรือ เอาความประหยัดน้ำมันสูงสุด! แต่ถ้าไม่คิดมากและดูจากโครงสร้างทางวิศวกรรมของรถเล็กคันนี้ ก็เชื่อว่าในการขับขี่สภาพปกติ มันก็ประหยัดเอาเรื่องอยู่แล้ว
รวบรัดตัดความ… “มาร์ช” มาด้วยเงื่อนไขในโครงการอีโคคาร์ ซึ่งรัฐบาลสนับสนุน และเป็นทางเลือกที่ไม่อาจมองข้าม ทั้งราคาเอื้อมถึงได้ง่าย จากการให้ภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษ รวมถึงการบริโภคน้ำมันตามข้อกำหนด 20 กิโลเมตรต่อลิตร...น่าสนใจทีเดียว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น